สืบ นาคะเสถียร



"ป่าไม้เป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์เราเป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ทำลายมรดกของธรรมชาติมาอย่างช้านาน จะมีสักกี่คน ที่ตระหนัก และระลึกถึงคุณค่าของผืนป่า เทียบเท่ากับผู้เสียสละคนนี้..." สืบ นาคะเสถียร 




สืบ นาคะเสถียร

          สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม สืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดย สืบ นาคะเสถียร เป็นบุตรชายคนโต

          ในวัยเด็ก สืบ นาคะเสถียร ได้ช่วยงานในนาของมารดาด้วยความอดทน บุคลิกประจำตัวคือ เมื่อเขาสนใจ หรือตั้งใจทำอะไรแล้ว ก็จะมีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ


          เมื่อเรียนจบชั้นประถม 4 สืบ นาคะเสถียร  ต้องจากครอบครัวไปเรียนที่ โรงเรียนเซนหลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นเดียวกัน จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 


          สืบ นาคะเสถียร ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล เรียนต่อในระดับปริญญาโทอีกครั้ง สาขาอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2524


ผลงานของ สืบ นาคะเสถียร 





บ้านพักของ สืบ นาคะเสถียร


          หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สืบ นาคะเสถียร กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการ และประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงาน พิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น

          จนกระทั่ง พ.ศ. 2526 สืบ นาคะเสถียร ได้ขอย้ายตัวเอง เข้ามาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว "ผม หันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคน เพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆ จับไม่ได้ก็เลย อึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรมเรารังแกชาวบ้าน"

          ในระยะนี้ เป็นจังหวะที่สืบได้แสดงความเป็นนักวิชาการออกมาอย่างเต็มที่ งานวิจัยศึกษาสัตว์ป่าเป็นงานที่ สืบ นาคะเสถียร ทำได้ดี และมีความสุขในการทำงานวิชาการมาก สืบ นาคะเสถียร รักงานด้านนี้เป็นชีวิตจิตใจ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้ผูกพันกับสัตว์ป่าอย่างจริงจัง งานวิจัยในช่วงแรกของสืบ เป็นการวิจัยนก สืบได้เริ่มใช้เครื่องมือในการบันทึกงานวิจัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ได้กลายเป็นผลงานการวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญของเมืองไทยในเวลาต่อมา ได้แก่ ภาพถ่ายสไลด์สัตว์ป่าหายากนับพันรูป ม้วนเทปวิดีโอภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และปัญหาการทำลายป่าในเมืองไทยหลายสิบม้วน โดยผลงานทั้งหมด สืบเป็นคนถ่ายและตัดต่อเองทั้งหมด

นอกจากนี้ สืบ นาคะเสถียร ยังมีผลงานทางวิชาการที่เด่น ๆ อีก เช่น

           ทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2524

           รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2526

           การศึกษานิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ในบริเวณโครงการ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพาน ตามพระราชดำริ 2528

           นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง 2529

           รายงานผลการจับเนื้อทราย ที่เกาะกระดาษ 2529

           เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ 2529

           นิเวศวิทยา ป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี และ จ.ตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก กุมภาพันธ์ 2530 โดย สืบ นาคะเสถียร, นริศ ภูมิภาคพันธุ์, ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ

           การอพยพสัตว์ป่า ในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา สัมมนาสัตว์ป่า 2532

           โครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ แควใหญ่ตอนบน (Assessment on Report and Impact Assessment Plan on Forestry and Wildlife of Upper Quae Yai Project)

ความพยายามรักษาผืนป่าของ สืบ นาคะเสถียร 


         




รูปปั้นที่ระลึก สืบ นาคะเสถียร

          ในปี พ.ศ. 2529 สืบ นาคะเสถียร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบก็รู้ดีว่า มีสัตว์อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายจากการสร้างเขื่อน ทำให้เขาเริ่มเข้าใจปัญหา และตระหนักว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยเหลือป่าและสัตว์ป่าจากการถูกทำลายได้

          สืบ นาคะเสถียร จึง เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการมาเป็นนักอนุรักษ์ ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยสืบยืนยันว่า การสร้างเขื่อนเป็นทำลายล้างเผ่าพันธุ์แหล่งอาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง กระทั่งความช่วยเหลือจากมนุษย์ ไม่สามารถชดเชยได้ โดยการรวมพลังของกลุ่มนักอนุรักษ์ ซึ่งในที่สุดโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ถูกระงับไป

          ในปี พ.ศ.2532 สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพร้อมๆ กับปัญหามากมายที่เขาต้องแก้ไขให้ได้ อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า

          ด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมด้วยพรรณไม้ และสัตว์ป่ามากมาย ทำให้หลายฝ่ายต่างจ้องบุกรุก เพื่อหาประโยชน์จากผืนป่า สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันจะเป็นเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ เพราะจะทำให้คนหันมาหวงแหนผืนป่านี้มากขึ้น สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง ได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า "ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" 







          สืบ นาคะเสถียร พยายามปกป้องป่าห้วยขาแข้งอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการบุกรุกของกลุ่มที่ แสวงหาผลประโยชน์ได้ การดูแลผืนป่าขนาดหนึ่งล้านไร่ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ตกอยู่บนบ่าของเขา มันทั้งกัดกร่อน บั่นทอนและสร้างความตึงเครียดให้กับสืบอยู่ตลอดเวลา 
          สืบ ค้นพบว่า ปัญหาสำคัญของห้วยขาแข้งเกิดจากความยากจน ที่ดำรงอยู่โดยรอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ทำให้กลุ่มผลประโยชน์และผู้มีอิทธิพลสามารถยืมมือชาวบ้านในเขตป่าสงวน เข้ามาตัดไม้และลักลอบล่าสัตว์ ในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างต่อเนื่อง ในทรรศนะของเขา หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการ สร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา จากนั้นก็อพยพราษฎรออกนอกแนวกันชนและพัฒนาแนวกันชน ให้เป็นชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปหาประโยชน์ได้ อย่าง ไรก็ตาม สืบไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเข้าไปจัดการเรื่องนี้ให้ปรากฎเป็นจริง ดังนั้นเขาจึงได้ พยายามประสานงานกับผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจฟัง ปล่อยให้สืบต้องดูแลป่าห้วยขาแข้งไปตามยถากรรม ด้วยความเหนื่อยล้า ความผิดหวัง และความคับแค้นใจ 

          สืบ นาคะเสถียรตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการสั่งเสีย ลูกน้องคนสนิท และเขียนจดหมายสั่งลา 6 ฉบับแล้วสวดมนต์ไหว้พระจนจิตใจสงบ ขณะที่ฟ้ามืดกำลัง เปิดม่านรับวันใหม่เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติด้วยกาย วาจา และใจ ต่อหน้าเปลวเพลิงที่พาร่างของสืบไปสู่นิรภพอันถาวรเพื่อนพ้องนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ต่างเห็นความจำเป็น ที่จะต้องรักษาอุดมคติของเขาให้คงอยู่ต่อไป
          
           การจากไปของ  สืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้เพราะว่าในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ สืบ มิได้เป็นเพียงข้าราชการอาชีพที่มีภาระการงานเกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า และสัตว์ป่าเท่านั้น หากเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยเป็นผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อปกป้อง รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือสัตว์ป่า โดยไม่คำนึงถึงภัยอันตรายใด ๆ การจากไปของเขา นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นความสูญเสียที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ทุกคนไม่อาจปล่อยให้ผ่านพ้นไปได้ โดยปราศจากความทรงจำ 

ความพยายามของสืบก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2534 เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขา แข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกในที่สุด
          การอุทิศ ตนของ สืบ นาคะเสถียร นั้น เป็นการปลุกคนให้ตื่นตัว และลุกขึ้นมาสนใจผืนป่าอย่างจริงจัง วันที่ 1 กันยายนของทุกปี จึงเป็นวันระลึกถึงความเสียสละของท่าน เพื่อให้ทุกคนจดจำ หวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร ...สืบไป




มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร

          หลัง จากการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติต่างนับว่าเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ และไม่อาจปล่อยผ่านไปได้โดยปราศจากความทรงจำ ดังนั้นพวกเขาจึงรวมตัวกัน และสืบสานเจตนารมณ์ดี ๆ ของชายผู้แลกชีวิตของเขากับผืนป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงถือกำเนิดขึ้น ..
          การก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากงานพระราชเพลิงศพของเขา 10 วัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2,448,540 บาท เพื่อก่อตั้งมูลนิธิ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้อีก 100,000 บาท รวมถึงการบริจาคจากผู้ที่รวมรำลึกถึงอีกหลายราย จนกระทั่งได้เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิรวม 16,500,000 บาท

          สัญลักษณ์ ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นรูปกวางผากระโจนเข้าสู่เปลวเพลิง โดยมีใบไม้สีทึบประกอบขึ้นเป็นฉากราตรีประดับดาว ซึ่งออกแบบโดย คุณปัณยา เพื่อนสนิทคนหนึ่งของคุณสืบ นาคะเสถียร เพราะกวางผา คืองานวิชาการชิ้นแรก ๆ ของ สืบ นาคะเสถียร และความหมายโดยรวมของสัญลักษณ์ก็คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของ สืบ นาคะเสถียร นั่นเอง
          โดยขณะนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของบุรุษผู้ล่วงลับต่อไป แม้ว่าการอนุรักษ์ไว้ซึ่งธรรมชาติจะมีอุปสรรคอย่างยากลำบาก และมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์นี้ แต่คนรุ่นหลังในมูลนิธิก็ยังคงเจริญรอยตามผู้เสียสละอย่างตั้งใจ ..

เพลง สืบทอดเจตนา (สืบ นาคะเสถียร)



รำลึกสืบ นาคะเสถียร












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น